หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตและหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2558) หลักสูตรสหวิทยาการ
ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ปรัชญาของหลักสูตร

การศึกษาในปัจจุบันได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การจัดการเรียนการสอนจึงได้ให้ความสำคัญกับผู้เรียนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหลักสูตรให้กับผู้ที่จบการศึกษาและเข้าทำงานในสถานประกอบการระยะหนึ่งแล้ว การจัดการเรียนการสอนจำเป็นที่ต้องจัดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและสถานประกอบการที่เป็นผู้ว่าจ้างสำเร็จการศึกษาเป็นหลัก ซึ่งทำให้การศึกษาในรายวิชาต่าง ๆ เป็นสหวิทยาการมากกว่าหลักสูตรทั่วไป ทำให้หลักสูตรที่เปิดสอนอยู่แล้วในระบบปกติไม่สามารถที่จะรองรับความต้องการของวิศวกรที่กำลังทำงานอยู่ในสถานประกอบการได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับกระบวนการผลิตในปัจจุบัน ได้นำระบบอัตโนมัติมาใช้เป็นจำนวนมาก โดยการควบคุมระบบในกระบวนการผลิตนั้น ต้องใช้ศาสตร์หลักที่สำคัญ 2 ส่วน คือ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical) และสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical) ซึ่งทำให้เป็นที่มาของศัพท์เมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics) ซึ่งเป็นลักษณะวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถในระบบการควบคุม กลไก ระบบการวัดและเครื่องมือวัด การออกแบบกลไกเพื่อใช้ร่วมกับระบบควบคุมอัตโนมัติ

ดังนั้น ในการจัดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตและวิศวกรรมศาสตรดุษฎีมหาบัณฑิต (หลักสูตรนอกเวลา) สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์นี้ ทางสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้มอบหมายให้สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล และสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นผู้ร่วมรับผิดชอบหลักสูตรการศึกษานี้ จากนั้นจึงได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกทั้งจากสถานประกอบการและนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้เข้ามาร่วมกันร่างหลักสูตร โดยมีเป้าหมายของหลักสูตรที่สำคัญเป็นดังนี้

หลักสูตรต้องมีความทันสมัย เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้กันในภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบัน เน้นทั้งทฤษฎีพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อการนำไปใช้งานจริง จัดให้มีวิชาเลือกที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละรายให้มากที่สุด

หลักสูตรต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถที่จะใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้ศึกษา นำไปใช้ในการทำงานได้โดยตรง โดยเฉพาะงานด้านระบบควบคุมอัตโนมัติ ทั้งด้านเชิงกลและเชิงไฟฟ้า

หลักสูตรต้องมีความเป็นสากลและเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีความใฝ่รู้และมีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์หลักสูตร

  1. เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในการวิจัยใสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบัณฑิตที่มีคุณธรรมและเป็นผู้นำของสังคมได้
  2. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับงานวิจัยด้านวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ทั้งงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ งานวิจัยและพัฒนา ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติได้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองในด้านการวิจัยได้อย่างยั่งยืนในประชาคมโลก
  3. เพื่อสนับสนุนการวิจัยในลักษณะบูรณาการ อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางด้านการวิจัยให้กับสาขาวิชา สำนักวิชา และมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยีตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา

Copyright © 2018 me-sut.com. All Rights Reserved.